วันศุกร์ที่ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๑

:: ข้อเท็จจริงของชื่อ "ประเทศไทย" หรือ "ประเทศสยาม" ::

คนไทยนั้นไม่เคยเรียกตนเองว่า "สยาม" เลย นอกจากจะเรียกว่า "ไทย" แต่ชาวต่างชาตินิยมเรียกประเทศไทยว่า สยาม (Siam) และเรียกคนไทยว่า "ไซมีส" (Siamese) สำหรับลำดับการเรียกชื่อประเทศในสังคมไทยนั้น พอจะสรุปได้ ดังต่อไปนี้ คือ

๑. เดิมทีคนไทยเรียกชื่อประเทศโดยใช้ชื่อเมืองหลวงเป็นชื่อประเทศ เช่น กรุงสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา จนถึง กรุงรัตนโกสินทร์

๒. ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ขณะที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ ได้เรียกชื่อประเทศว่า กรุงศรีอยุธยา

๓. ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแยกชื่อเมืองหลวงออกจากชื่อประเทศ ตามแบบตะวันตก คือ เรียกประเทศว่า "สยาม" โดยได้ทรงลงพระปรมาภิไธยว่า Rex Siamensis

๔. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ใช้ชื่อว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม และมาตรา ๑ ระบุว่า "ประเทศสยามเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้"

๕. พ.ศ. ๒๔๐๘-๒๔๘๑ ในสัญญาทางพระราชไมตรีการพาณิชย์ การเดินเรือกับต่างประเทศใช้คำว่า "ประเทศสยาม" "ราชอาณาจักรสยาม" "รัฐบาลสยาม" แต่เมื่อกล่าวถึงภาษาใช้คำว่า "ภาษาไทย" และมีบางแห่งใช้ไทยและสยามปน ๆ กันไป

๖. พ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัยจอมพลหลวงพิบูลสงคราม มีการประกาศใช้ประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ ให้ใช้ชื่อ ประเทศ ประชาชน และสัญชาติว่า "ไทย"

๗. รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยนามของประเทศปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๒ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ ว่า ให้เรียกชื่อประเทศว่า "ประเทศไทย" และบทรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่นที่ใช้คำว่า "สยาม" ให้ใช้คำว่า "ไทย" แทน จึงเท่ากับเป็นการฆ่าคำว่า "สยาม" ให้ตายไปโดยสิ้นเชิง นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจะต้องเรียกคนไทยว่า "ไทย" (Thai) และเรียกชื่อประเทศว่า ประเทศไทย (Thailand) ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น

๘. ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง รัฐบาลของนายทวี บุณยเกตุ ประกาศใช้ชื่อประเทศไทยใน ภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสว่า "Siam" ชื่อประเทศไทยและภาษาไทยว่า "ประเทศไทย" ส่วนสัญชาติ ผู้ถือหนังสือเดินทางเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า "Siamois" ในขณะเดียวกันนั้น ประเทศอังกฤษได้ขอตั้งเงื่อนไขขอเรียกชื่อประเทศไทยว่า "ประเทศสยาม" ซึ่งรัฐบาลไทยก็มิได้ขัดข้องประการใด จึงดูเหมือนว่าชาวต่างประเทศจะเรียก สยาม ก็ได้ ไทย ก็ได้

๙. เมื่อเกิดรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๐ นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรี คงเรียกประเทศว่า "ประเทศไทย" ส่วนการเรียกในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสให้เรียก "Siam"

๑๐. เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๑ เมื่อจอมพลหลวงพิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง อภัยวงศ์ รัฐบาลกลับเปลี่ยนชื่อประเทศไทยในภาษาอังกฤษว่า "Thailand" และฝรั่งเศสว่า "Thailande" ซึ่งคงใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้

๑๑. รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้เขียนลงไว้ว่า "ประเทศไทย"

๑๒. พ.ศ. ๒๕๑๑ สภาร่างรัฐธรรมนูญมีการอภิปรายเปลี่ยนชื่อจาก "ไทย" เป็น "สยาม" แต่สมาชิกส่วนมากไม่ยอมรับ

๑๓. พ.ศ. ๒๕๑๗ สภาร่างรัฐธรรมนูญได้อภิปรายในเรื่องเดียวกัน

Credit ::เว็บไซต์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น: